Thai Hair Center has provided healthcare since 1999

โรคผมร่วงเป็นหย่อมหรือผมร่วงเป็นวง : : Alopecia Areata

โรคผมร่วงเป็นหย่อมๆ

โพสต์ : ทีมวิชาการ
ปรับปรุงล่าสุด : 3 มิ.ย. 65 - ครั้งที่ 93

โรคผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ผมร่วงเป็นวงๆ หรือผมร่วงเป็นกระจุก (Alopecia Areata) มีลักษณะของโรคที่สำคัญคือเกิดผมร่วงเป็นวงขนาดใดๆก็ได้ พบเป็นเพียงหย่อมเดียวหรือหลายหย่อมก็ได้ ลักษณะผิวหนังตรงวงไม่มีร่องรอยของการอักเสบแต่อย่างใด เป็นวงกลมหรือวงรีมีขอบเขตชัดเจน
ลักษณะของหนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงจะไม่มีการอักเสบ ไม่มีขุยหรือสะเก็ด อาจจะมีอาการคันเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไรเลย ผู้ที่เป็นบางครั้งไม่รู้ตัวเองเลยจนมีคนมาทักว่าผมหายไปแล้ว ผมแหว่งไปแล้ว

โรคผมร่วงเป็นหย่อมเป็นโรคที่เกิดจากความแปรปรวนของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไปทำลายรากผมตัวเอง รากผมจึงถูกกัดกร่อน ถูกกดและหยุดการเจริญของรากผมนั้น ทำให้ผมร่วงออกมาเรื่อยๆจนกลายเป็นวง สาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแปรปรวนนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ากลุ่มต่อไปนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมสูงกว่าคนทั่วไปคือ

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม ทำให้คิดว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หรือมีคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคด่างขาว โรคต่อมไทรอยด์ โรคลูปัส (SLE) โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคลำไส้อักเสบ (ulcerative colitis) โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • มีโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis)
  • มีความเครียดเรื้อรังสูง
  • ยาบางชนิด
  • การติดเชื้อไวรัสบางอย่าง

ปัจจัยที่มีผลกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้แก่ ความเครียด พันธุกรรม การพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรคใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่สามารถติดต่อได้ ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อาจลุกลามเป็นมากขึ้น จากวงเล็กๆ อาจขยายเป็นวงใหญ่ขึ้นจนเป็นทั่วศีรษะได้และอาจมีขนคิ้ว ขนตาหรือหนวดเคราร่วงเป็นวงร่วมด้วยได้ ผมร่วงชนิดนี้พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายเป็นได้ทุกวัยแต่พบมากในวัยทำงาน

ผมร่วงชนิดนี้ไม่ได้เป็นอาการของโรคร้ายแรงอะไร สามารถพบได้ในผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วๆไป แต่กลุ่มคนที่อาจมีความเสี่ยง ของโรคเหล่านี้สูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวต่อไปนี้คือ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหอบหืด และโรคที่เกี่ยวกับภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวนอื่น ๆ เช่น โรคไทรอยด์ โรคด่างขาว โรคพุ่มพวง - เอสแอลอี (SLE) เป็นต้น
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ : โรคผมร่วงเป็นหย่อม ที่ควรรู้

ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของโรคผมร่วงเป็นวงเป็นหย่อมนี้สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจผิวหนังที่ตำแหน่งผมร่วง ด้วยตาเปล่าของแพทย์ ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษแต่ประการใด ร่วมกับการซักประวัติการเป็นมาก่อน เพียงแค่นี้ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้แล้ว โดยประวัติที่ซักได้และการตรวจพบที่สำคัญที่ช่วยในการวินิจฉัยคือ

  • ส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการแสดงออกทางโรคผิวหนังอื่นๆให้รู้ตัวมาก่อนเลย เช่น อาการคัน อักเสบ ปวดแสบปวดร้อน ฯลฯ ผู้ป่วยมารู้ตัวว่ามีผมแหว่งออกไปเป็นวงแล้ว ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวเองเลยว่าเป็นมานานเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นการค้นพบโดยบังเอิญจากคนรอบข้างทัก ทั้งเพื่อน ญาติ ช่างตัดผม และไม่สามารถให้ประวัติชัดเจนได้ว่าเป็นมานานเท่าไหร่แล้ว เมื่อมาพบแพทย์ครั้งแรก
  • หากซักประวัติย้อนหลังไปประมาณ 3-4 เดือนก่อนจะมาพบแพทย์มักจะได้ประวัติที่สำคัญซึ่งสร้างความเครียด ความอ่อนล้า ความวิตกกังวลให้ผู้ป่วยมาก่อน เช่น มีความเศร้าโศกสูญเสียครั้งสำคัญของชีวิต, ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำพักผ่อนน้อยนอนน้อยอาจจะจาก งาน, ทำวิทยานิพนธ์, อ่านหนังสือเตรียมสอบ, ปัญหาด้านเศรษฐกิจหนี้สิน, ปัญหาสุขภาพแบบหนักหน่วงและปัญหาครอบครัว เป็นต้น
  • ลักษณะการร่วงอาจจะเป็นวงกลมหรือวงรีก็ได้ เกิดที่ตำแหน่งไหนก็ได้ทั่วร่างกายที่มีรูขุมขน ขนาดใหญ่เล็กได้ทั้งนั้น แต่ละวงมีลักษณะขอบเขตชัดเจน บางครั้งเกิดหลายวงแต่ละวงลามใหญ่ขึ้นมารวมกันเหมือนกับเป็นวงใหญ่วงเดียว
  • ผิวหนังตำแหน่งที่ผมร่วงเป็นหย่อมมีลักษณะเนื้อเป็นสีขาวอมชมพูเรือๆ ขนที่ขึ้นเล็กมาก เป็นขนอ่อนสีขาว ผิวหนังเรียบเนียน ไม่มีร่องรอยของการอักเสบ แดง สะเก็ด ขุย ใดๆทั้งสิ้น บางครั้งมองไม่เห็นรูขุมขนเลย จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่ารูขุมขนปิดไปหมดแล้ว
  • ที่ตำแหน่งชายขอบของวงผมร่วงจะพบ ผมเส้นสั้นๆขนาดยาวประมาณ 3-4 มม. ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์ หรือเครื่องหมายตกใจ (Exclamation mark hair - ! ! ! ! ! ! !) ความหมายคือจะมีการลีบเล็กลงของเส้นผมลงไปถึงโคนรากผม ผมเส้นดังกล่าวสามารถดึงหลุดออกจากรากผมได้โดยง่าย เชื่อว่าเกิดจากการมีการอักเสบของรากผม และในไม่ช้าผมที่มีลักษณะดังกล่าวก็จะร่วงออกไปทำให้วงผมร่วงเป็นหย่อมขยายตัวใหญ่ขึ้น หากตรวจพบลักษณะเช่นนี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของโรคนี้ ใช้เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยได้ และสามารถแปลความได้ว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นอยู่ยังมีความรุนแรง รอยโรคยังคงขยายตัวต่อเนื่องไม่หยุด : การตรวจเห็นลักษณะดังกล่าวนี้อาจจะต้องใช้แว่นขยายในการตรวจหรือใช้กล้องส่องตรวจรากผม (Trichoscopy)
  • อาจจะตรวจพบร่วมกับความผิดปกติของเล็บได้เช่น เล็บหนา เปราะ ผิวขรุขระ เป็นได้ทั้งเล็บมือและเล็บเท้าเป็นกี่นิ้วก็ได้
  • โรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรงใดๆทั้งสิ้น ไม่ติดต่อไปยังผู้ใด ไม่ใช่มะเร็ง ไม่มีโรคร้ายซ่อนเร้นอยู่ ไม่ใช่เชื้อรา ไม่ใช่เอดส์ แต่มักจะสร้างความวิตกกังวลอย่างมากให้ผู้ป่วย ซึ่งเมื่อวิตกกังวลมากก็จะเป็นเหตุให้รอยโรคลุกลามขยายตัวกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว บางครั้งผมร่วงจนหมดศีรษะเลย (Alopecia Totalis)
  • ในกลุ่มที่มีขนที่อื่นในร่างกายร่วงร่วมด้วย ไม่ว่า ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนหน้าแข้ง ขนในร่มผ้า กลุ่มนี้มักไม่ค่อยหายเอง หรือในคนที่มีประวัติเป็นซ้ำหลายๆครั้งในรอบ 5 ปี มักจะต้องพึ่งยาในการรักษา
  • มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่ทางแพทย์ของไทยแฮร์เซ็นเตอร์ตรวจพบและสังเกตได้ในโรคนี้ : โรคผมร่วงเป็นวง ที่ควรทราบ

โรคซิฟิลิส มีลักษณะผมร่วงเป็นวงคล้ายถูกมอดแทะ moth-eaten appearance

การวินิจฉัยแยกโรคจากโรคผมร่วงเป็นหย่อม จะมีส่วนน้อยมากๆ ที่การตรวจเบื้องต้นและประวัติจะกำกวมทำให้วินิจฉัยยาก จำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่ม ไม่ว่าการตรวจด้วยกล้องส่องรากผม (Trichoscopy), การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsy) หรือการตรวจเลือด การวินิจฉัยแยกโรคในกลุ่มที่วินิจฉัยยากหรือกำกวมมีโรคดังต่อไปนี้

  1. โรคผมร่วงแบบเป็นแผลเป็นระยะเริ่มแรก (Early stage of Cicatricial alopecia : Pseudopelad, Lichen planopilaris etc) กลุ่มโรคนี้มักจะมีอาการแสดงออกทางผิวหนังมาก่อน เช่น ผื่นคัน ปวดแสบปวดร้อน ตุ่มเจ็บ ฯลฯ
  2. โรคผมร่วงจาก โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 (โรคของลำยองในหนังทองเนื้อเก้า)
    โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมาพาลลิดัม (Treponema pallidum) เมื่อได้รับเชื้อจะกระจายไปตามกระแสโลหิต ทำให้เกิดรอยโรคและพยาธิสภาพได้เกือบทุกอวัยวะในร่างกาย ซึ่งอาจจะต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิส ซึ่งสามารถติดต่อได้ 2 ทางคือ
    2.1 จากมารดาสู่ทารก โดยมารดาที่มีเชื้อซิฟิลิสสามารถส่งเชื้อผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกติดเชื้อตั้งแต่แรกคลอด
    2.2 ทางเพศสัมพันธ์ จากคู่ที่มีเพศสัมพันธ์กัน ผู้ที่มีเชื้อถ่ายทอดให้อีกฝ่าย จากชายสู่หญิง หญิงสู่ชาย ชายสู่ชาย หรือ หญิงสู่หญิง ก็ได้
    โดยมีระยะฝักตัวของโรคซิฟิลิส เมื่อเข้าสู่ร่างกายเฉลี่ยประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ โดยมีอาการของโรคซิฟิลิส แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
    • ระยะที่ 1
      - มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ลักษณะแผลเรียบสะอาด ขอบแข็ง ไม่เจ็บ ส่วนใหญ่เป็นแผลเดี่ยวตื้นๆ เรียกว่าแผลริมแข็ง แผลสามารถหายได้เองในเวลา 1 - 2 สัปดาห์
      - ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต กดไม่เจ็บ
    • ระยะที่ 2
      - เกิดหลังจากเป็นแผลริมแข็ง 6 สัปดาห์ถึง 6 เดือน
      - มีแผลที่อวัยวะเพศ อาจเป็นแผลเดี่ยวหรือหลายแผล ลักษณะเป็นรอยนูนขึ้นจากผิว
      - มีผื่นขึ้นตามตัว ฝ่ามือและฝ่าเท้า
      - อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน
      - ผมร่วงเป็นหย่อมๆ คล้ายถูกมอดแทะ (moth-eaten appearance) หรือมีขนคิ้วร่วงด้วย
      ระยะนี้อาการอาจหายไปเองได้ แม้ไม่ได้รับการรักษา แต่เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ผลเลือดซิฟิลิสเป็นบวกทุกราย
    • ระยะที่ 3 (ระยะแฝง)
      ระยะนี้จะไม่ปรากฏอาการใดๆ ของโรค แต่สามารถตรวจพบเชื้อได้ในกระแสเลือด ผลตรวจเลือดซิฟิลิสจะเป็นบวก ในสตรีที่มาฝากครรภ์และผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักพบโรคซิฟิลิสระยะแฝงมากกว่าระยะอื่น
    ลักษณะผมร่วงในกลุ่มโรคนี้จะเป็นวงเล็กๆมีหลายๆวงกระจัดกระจายอยู่ใกล้ๆกัน มีลักษณะผมร่วงเป็นหย่อมๆ คล้ายถูกมอดแทะ (moth-eaten appearance) นอกจากนี้คนที่เป็นโรคนี้จะซักได้ประวัติมีแผลหรือเคยมีแผลแบบไม่เจ็บที่บริเวณอวัยวะเพศมาก่อนที่จะมีผมร่วง อาการผมร่วงมักจะดีขึ้นภายใน 3 เดือนหลังจากให้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคซิฟิลิส
  3. โรคเชื้อราที่หนังศีรษะ (tinea capitis) หากสงสัยต้องมีการขูดเอาเนื้อเยื่อไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเชื้อรา
  4. โรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania or Traction alopecia) โรคนี้พบได้ประปราย บางครั้งผู้ป่วยไม่บอกความจริงกับแพทย์ว่าเป็นคนชอบดึงผมตัวเอง ดึงจนผมแหว่งเป็นวงๆ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักจะมีสภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคง การรักษาอาจจะต้องพึ่งจิตแพทย์ให้ช่วยรักษาด้วย

 
เรื่องผมร่วงเป็นหย่อมๆ เป็นดวงๆ หรือเป็นวงๆ นี้: ถึงแม้จะไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ สามารถหายเองหรือทุเลาได้เอง ทางไทยแฮร์เซ็นเตอร์ ก็ยังมีผู้ที่เข้ามารับการรักษาด้วยเรื่องผมร่วงเป็นวงๆ เช่นนี้ทุกวันอย่างน้อยวันละ 1-2 ราย และทางไทยแฮร์ฯ ได้ทำสถิติไว้พบว่าอัตราการหายของผู้เข้ารับการรักษากับการไม่รักษานั้นแตกต่างการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ อัตราการหายของผู้เข้ารับการรักษา ประมาณร้อยละ 75 จะหายเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 4 - 6 เดือน ส่วนผู้ที่ไม่ได้รักษา อัตราการหายเองเฉลี่ยอยู่ที่ 6 - 24 เดือน และนอกจากนี้แล้ว ระหว่างการรักษายังพบว่า อัตราการกระจายของโรคไปเกิดเป็นวงอื่นหรือหย่อมอื่น ลดลงเหลือ ร้อยละ 5
ในผมร่วงเป็นหย่อมในขณะที่เป็นและไม่ได้รับการรักษา มีโอกาสที่รอยโรคจะกระจายหรือไปเกิดอีกหย่อมหรือหลายๆหย่อม มีถึง ร้อยละ 20
 

ผมร่วงเป็นวงเกิดที่กลางศีรษะวงเดียวขนาดใหญ่

คำตอบคือ ได้ ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่เป็นผมร่วงเป็นวงนี้ มักจะไปพบแพทย์และผมจะกลับขึ้นใหม่เองภายใน 6เดือน - 1 ปีหลังรักษา
90% ของผู้ที่มีผมร่วงเป็นวงนี้สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาใดๆเลย แต่อาจจะมีระยะเวลาที่ต้องรอ เพื่อให้หายเองยาวนานคือประมาณ 6 -24 เดือน และอีก 10% พบว่าผมจะไม่ขึ้นใหม่อีกเลย ในบางรายอาจพบได้ว่าผมที่ขึ้นใหม่กลับมาร่วงอีก ระยะเวลาที่เกิดผมร่วงนี้แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ไม่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำว่าผมจะขึ้นใหม่หรือจะร่วงไปเมื่อใด ในบางคนอาจเป็นครั้งเดียวหรือในบางคนอาจมีอาการผมร่วงและขึ้นใหม่เป็นๆ หายๆ ได้ ผมที่ร่วงสามารถขึ้นใหม่จนเป็นปกติได้ แม้ในผู้ที่มีอาการร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis) หรือร่วงทั้งผมและขนร่วมกัน ผมที่ขึ้นใหม่บางครั้งอาจมีสีขาวและเปราะบาง แต่จะกลับมีสีและสภาพเดิมได้ในเวลาต่อมา ในกลุ่มที่มีผมร่วงทั้งศีรษะและมีขนที่อื่นทั่วร่างกายร่วงร่วมด้วย (Alopecia Universalis) ผลการรักษาจะไม่ค่อยดีนัก หรือในบางรายที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างออกมาผิดปกติมากๆ จะไปกัดกร่อนเอาผิวหน้าของเล็บมือเล็บเท้า ทำให้มีผิวไม่เรียบหยักเป็นคลื่น จะเป็นทุกนิ้วหรือนิ้วใดนิ้วหนึ่งก็ได้
ผมร่วงเป็นหย่อมนี้ถึงแม้การพยากรณ์โรคจะดี สามารถหายได้เองถึง 90 % แต่ยังมีกลุ่มที่ไม่หายเองและบางครั้งไม่หายเลย ซึ่งในกลุ่มเหล่านี้มักจะต้องพึ่งพิงการรักษาจากแพทย์ กลุ่มคนไข้ดังกล่าวต่อไปนี้เป็นกลุ่มที่ การพยากรณ์โรคไม่ดีและมักไม่หายเอง คือ

  • มีผมร่วงเป็นวงกว้างกินพื้นที่หนังศีรษะมากกว่า 1 ใน 5 (มากกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่หนังศีรษะ) หรือมีขนตำแหน่งอื่นในร่างกายร่วงร่วมด้วย
  • มีประวัติผมร่วงเป็นวงซ้ำๆ กันหลายครั้งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
  • มีประวัติเป็นภูมิแพ้ร่วมด้วยโดยเฉพาะภูมิแพ้ระบบผิวหนัง เช่น ผื่นแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
  • มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคAA (Alopecia Areata) ร่วมด้วย
  • มีผมร่วงเป็นวง ที่มีมานานกว่า 1 ปี โดยไม่มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นเลย แม้หย่อมผมร่วงจะเป็นวงขนาดเล็กก็ตาม
  • มีอาการผมร่วงเป็นวงตั้งแต่ก่อนจะเข้าสู่วัยรุ่น (puberty)
  • มีอาการผมร่วงเป็นวงเล็กๆขยายมารวมกันเป็นวงใหญ่ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว (alopecia areata diffusa)
  • มีผมร่วงเป็นวงในตำแหน่งชายผมโดยรอบของศีรษะ (ophiasis pattern alopecia) โดยเฉพาะชายผมบริเวณท้ายทอย
  • มีความผิดปกติของเล็บมือหรือเล็บเท้าร่วม เช่น เล็บมีผิวหน้าขรุขระ
  • มีผมร่วงเป็นวงเกิดขึ้นกระจายไปมากกว่า 1 วง ทั้งๆที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยา กลุ่มนี้นอกจากจะเป็นสัญญาณว่าโรคจะไม่หายเองแล้ว ยังเป็นข้อบ่งชี้ให้แพทย์ปรับเพิ่มขนาดยารักษาด้วย
  • มีอาการผมร่วงทั้งศีรษะ (alopecia totalis) หรือขนที่อื่นทั่วร่างกายร่วงร่วมด้วย (alopecia universalis)
มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ : โรคผมร่วงเป็นวง ที่ควรทราบ
ภาพผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) รูปแบบต่างๆ

ผมร่วงเป็นวงในผู้หญิงกลางศีรษะ

ผมร่วงเป็นวงเป็นมากหลายวงมาต่อกันจนเป็นบริเวณกว้าง

ผมร่วงเป็นวงในผู้ชายเป็นหลายวงขนาดต่างๆกัน

หนวดเคราร่วงออกเป็นวง

Alopecia areata โรคผมร่วงเป็นวงเดียว วงใหญ่

Alopecia areata ผมร่วงเป็นวงๆ หลายวงมารวมกันเกือบเป็นวงใหญ่

Alopecia Totalis ที่ผมร่วงทั้งศีรษะ

Alopecia areata ที่มีปัญหาผิวเล็บขรุขระร่วมด้วย

การรักษา ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ผมมีการขึ้นใหม่ในบริเวณที่ผมร่วงไปได้เร็วและดีกว่าการปล่อยให้หายเองแบบตามธรรมชาติ ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาแล้วปล่อยให้หายเอง อาจจะพบว่ามีวงของผมที่ร่วงใหม่เกิดขึ้นกระจายไปอีกหลายหย่อมได้ ซึ่งเป็นไปตามลักษณะการดำเนินของโรค การหายของโรคนี้เกิดขึ้นโดยร่างกายเองเท่านั้น ที่จะหยุดภาวะความแปรปรวนของภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายรากผม ผมจึงจะหยุดร่วง ดังนั้นการใช้ยาจึงต้องใช้อย่างต่อเนื่องไปจนกว่าภาวะดังกล่าวนี้ดีขึ้น หากหยุดยาก่อน ผมที่ขึ้นจากการกระตุ้นของยาอาจร่วงหลุดไปได้เช่นกัน ยาที่ใช้ในการรักษาได้แก่

  1. ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
    มีฤทธิ์ลดการอักเสบและกดการสร้างภูมิคุ้มกัน มีการใช้ทั้งในรูปของยาทาเฉพาะที่ ยากิน และยาฉีดเฉพาะที่เข้าใต้ผิวหนังบริเวณที่มีผมร่วง สเตียรอยด์ที่นิยมใช้ได้แก่ Clobetasol หรือ Fluocinonide และที่อยู่ในรูปของยาทาหรือยาฉีดเฉพาะที่ ในรูปของยาฉีดมักใช้เมื่อผมร่วงเป็นหย่อมเล็กที่บริเวณหนังศีรษะหรือร่วงที่บริเวณคิ้วหรือหนวด การฉีดจะต้องฉีดทุก ๆ 2 – 6 สัปดาห์ ถ้าเป็นในระยะแรกอาจรักษา โดยการใช้ยาสเตียรอยด์ทาบริเวณผิวหนังที่ผมหลุดร่วง อย่างไรก็ตามการทายาเพียงอย่างเดียวอาจได้ผลไม่ดีนัก เนื่องจากการดูดซึมของยาผ่านบริเวณหนังศีรษะจนถึงระดับของรากผม อาจน้อยกว่าปริมาณของยาที่ต้องการในการรักษา การรักษาจะเริ่มเห็นผลเมื่อใช้ยาต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน การใช้ยาสเตียรอยด์ในรูปของยากินได้ผลดีในการลดผมร่วง แต่อาจพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เนื่องจากต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานจนกว่าโรคจะสงบเอง หากหยุดยาก่อนผมจะกลับมาร่วงใหม่ได้ ดังนั้นจึงนิยมใช้ในกรณีที่มีผมร่วงเป็นวงกว้าง หรือมีขนทั่วร่างกายร่วงร่วมด้วย หรือใช้ในช่วงระยะแรกในการรักษาร่วมกับยาทา โดยใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ 3-4 เดือน แล้วค่อยหยุดยากินเหลือไว้เพียงแต่ในรูปแบบของยาทา
  2. ยาทาไมนอกซิดิล 5% (Topical minoxidil 5% solution)
    สามารถกระตุ้นผมขึ้นใหม่ได้ การใช้จะใช้ทาบริเวณที่ร่วงได้ทั้งที่หนังศีรษะ, หนวด, เครา, คิ้ว วันละ 2 ครั้ง สามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ การขึ้นใหม่ของผมจะเริ่มสังเกตเห็นได้เมื่อใช้ยาต่อเนื่องไปประมาณ 3 เดือน
  3. แอนทราลิน (Anthralin)
    เป็นผงถ่านสังเคราะห์ มีฤทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงการทำงานของภูมิคุ้มกันที่บริเวณผิวหนัง การใช้ทาไว้บริเวณที่มีผมร่วง 20 – 60 นาที แล้วล้างออก เพื่อป้องกันไม่ให้หนังศีรษะเกิดภาวะระคายเคือง
  4. Topical immunotherapy : topical diphenylcyclopropenone (DPCP)
    เป็นยาทาใช้เฉพาะภายนอก มักจะใช้ในกรณีที่รักษามาหลายวิธีแล้วไม่ได้ผล เป็นๆหายๆ บ่อยมากและเป็นบริเวณกว้างหรือเป็นทั้งศีรษะ (alopecia totalis) ถึงแม้ยังเป็นวิธีที่ไม่ผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการให้ใช้รักษาโรคนี้ จาก FDA ของสหรัฐอเมริกา แต่แพทย์ทั่วโลกก็นิยมใช้ในกรณีที่เป็นโรคนี้มากๆและรักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล การรักษาด้วยตัวยานี้แพทย์จะเป็นผู้ทาผิวหนังให้ในสถานพยาบาล โดยมีการปรับความเข้มข้นของตัวยาขนาดต่างๆตามความเหมาะสมแล้วนัดผู้ป่วยมาดูติดตามการรักษาเป็นระยะๆ ไม่มีการจ่ายยาให้คนไข้นำกลับบ้านเพื่อไปทาเองที่บ้านเนื่องจากยามีการระคายเคืองมาก และมีผลแทรกซ้อนมากหากใช้ผิดวิธี
ในบางครั้งอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษาผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ที่สำคัญอีกอย่างคือภาวะจิตใจของคนไข้ ควรมีขวัญและกำลังใจอย่างดี ได้รับการประคับประคองจากแพทย์และคนรอบข้างอย่างดี ผู้ที่มีปัญหาผมร่วงเป็นวงกว้างมากอาจจะใช้แฟชั่นแต่งผม ไม่ว่าจะเป็น หมวกที่เก๋ใก๋ ผ้าคลุมผมหลากหลายสไตล์ หรือแม้กระทั่งวิกใส่ผมในหลายๆรูปแบบ เพื่อเป็นการอำพรางรอยโรคที่เป็น เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและตัดวงจรของความวิตกกังวลเรื่องบุคลิกภาพ ซึ่งจะเสริมทำให้ผลการรักษาด้วยยาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

 
Alopecia areata : อ่านว่า อะ-โร-พี-เชีย-อาร์-รี-เอ-ต้า
alopecia เป็นศัพท์แพทย์ รากศัพท์จากภาษาลาติน แปลว่า ผมร่วง - hair loss
areata รากศัพท์จากภาษาลาติน แปลว่า บริเวณ อาณาเขต - area
Alopecia areata : จึงแปลว่า ผมร่วงเป็นบริเวณหรือผมร่วงเป็นหย่อม และเนื่องจากบริเวณที่ผมร่วงมักมีรูปทรงเป็นวงกลม ในภาษาไทยบางคนก็เรียก โรคผมร่วงเป็นวง

โรคผมร่วงเป็นหย่อมหรือโรคผมร่วงเป็นวงเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ของร่างกายและมีหลักฐานว่าโรคสามารถถ่ายทอดมาจากพันธุกรรมได้ โรคผมร่วงเป็นวงนี้บางคนเรียกโรคAA - โรคเอเอ (Alopecia Areata) และอธิบายการเกิดว่าเป็นโรคเม็ดเลือดขาวกินรากผม แต่โดยหลักการเกิดนั้นเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแปรปรวนทำให้ ร่างกายสำคัญผิดว่ารากผมคือสิ่งแปลกปลอม จึงมี การทำลายรากผมตัวเอง เกิดขึ้น แต่การทำลายรากผม หรือรากขนตัวเองนั้นสามารถเกิดได้ทั้งแบบร่างกายส่งเม็ดเลือดขาวไปกินหรือร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไปทำลาย เป็นได้ทั้งสองแบบ ทำให้เกิดผมร่วงแบบไม่เป็นแผลเป็นของหนังศีรษะ (non-scarring hair loss) เมื่อตัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งผมร่วงเป็นวงไปตรวจจะพบมีการเพิ่มขึ้นของเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte มากขึ้นอย่างชัดเจนซึ่งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ จะมากำจัดรากผมที่ร่างกายสำคัญผิดคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม โรคนี้มีรูปแบบการแสดงออกของโรคตามลักษณะการเกิดและตำแหน่งที่เกิดและมีชื่อเรียกของโรคที่ต่างกันดังนี้

  1. alopecia areata focalis : เกิดผมร่วงเป็นวงที่หนังศีรษะหรือตำแหน่งใดก็ได้ของร่างกายโดยจำกัดการเป็นอยู่ในบริเวณเดียวไม่กระจายหลายตำแหน่งจะมีกี่วงก็ได้ เช่น เกิดเฉพาะที่หนังศีรษะไม่เกิดที่อื่น หรือ เกิดเฉพาะแถวเคราใต้คางไม่เกิดที่อื่น ส่วนใหญ่ของโรคผมร่วงเป็นวงมักจะอยู่ในกลุ่มนี้ซึ่งการพยากรณ์โรคจะดี หายได้เองถึง 90%
  2. alopecia areata totalis : เกิดผมร่วงทั้งหมดบนศีรษะ และจะหมายรวมทั้งขนคิ้วและขนตาร่วมด้วย (including eyebrows and eyelashes)
  3. alopecia areata universalis : เกิดผมร่วงทั้งหมดของขนและผมทั่วร่างกายหรือเกือบทั่วร่างกาย
  4. alopecia maligna : เกิดผมร่วงทั่วร่างกายต่อเนื่องกันมายาวนานและรักษาอย่างไรก็ไม่หาย
  5. ophiasis or alopecia areata marginata : เกิดผมร่วงเป็นหย่อมตามแนวชายผม ลักษณะวงขยายเลื้อยไปตามชายผมคล้ายงูเลื้อย ตั้งแต่ชายผมด้านหน้า (frontal hair line) เลื้อยไปชายผมเหนือกกหู (temperal) เลื้อยไปชายผมท้ายทอย (occipital) ในบางรายเป็นตามชายผมโดยรอบของศีรษะ ซึ่งการพยากรณ์โรคจะไม่ดีรักษายากมากๆ
  6. ophiasis inversus : เกิดผมร่วงเป็นหย่อมโดยเริ่มเกิดจากจุดศูนย์กลางกระหม่อม ขยายตัวออกทางด้านข้างไปยังชายผมด้านข้าง เป็นวงกว้าง
  7. alopecia areata diffusa or alopecia areata reticularis : เกิดผมร่วงเป็นวงๆ ที่ละวง หลายๆวงขยายมารวมกันเหมือนเป็นวงใหญ่วงเดียว เมื่อมารวมกันสนิทแล้วแยกแต่ละวงไม่ออกเลยว่ามีขอบเขตอย่างไร
แบบที่ 2 -7 ของโรคผมร่วงเป็นวงนี้ มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี มักจะไม่หายเองและรักษายากมาก

การรักษาโรคผมร่วงเป็นวงด้วยทางเลือกอื่นนั้น แพทย์ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ได้รักษาคนไข้โรคนี้มานานนับสิบปี มีคำบอกเล่ามากมายเกี่ยวกับการรักษาโรคนี้ด้วยตนเอง ที่คนไข้ได้ทำมาก่อนที่จะมาพบแพทย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นความเชื่อตามคำบอกเล่าและปฏิบัติตามกันต่อเนื่องกันมา เช่น

  • ใช้กระเทียมฝานหรือบดละเอียดมาถูที่วงผมร่วง
  • ใช้หัวหอม (ทั้งหอมแดงและหอมหัวใหญ่) ฝานหรือบดละเอียดผสมน้ำมันมะพร้าวถูหนังศีรษะ
  • ใช้ขิงแก่ ฝานหรือบดละเอียดถูที่หนังศีรษะตำแหน่งผมร่วงผมบาง

การรักษาตนเองด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นเป็นการอิงวิถีธรรมชาติบำบัดที่ทำขึ้นด้วยตัวเอง ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไรมากมาย (Home Remedy) แพทย์ของไทยแฮร์เซ็นเตอร์นอกจากจะไม่ห้ามแล้วยังสนับสนุนอีกด้วย เนื่องจากเห็นว่าผลแทรกซ้อนไม่ได้มีโทษมากมาย ที่ได้เห็นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการระคายผิวหนังเพียงเล็กน้อย และการที่คนไข้ได้รักษาตัวเองด้วยวิธีดังกล่าวร่วมด้วย ถือว่าเป็นการประคับประคองจิตใจของคนไข้ร่วมอีกทางหนึ่ง เพราะโรคผมร่วงเป็นวงนี้บางครั้งมีแนวโน้มที่จะหายได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แม้ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันเลย การรักษาตัวเองด้วยวิธีดังกล่าวเป็นการสร้างความหวัง รอเวลาให้ร่างกายสมานตัวเอง ซ่อมแซมตัวเอง เป็นการลดการสัมผัสยาแผนปัจจุบันได้ดีทีเดียว
ความจริงแล้วผู้ที่ประสบปัญหาผมร่วงเป็นวงนี้ แทบทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ที่จะหาวิธีรักษาด้วยหลักธรรมชาติบำบัด และแนวทางก็จะคล้ายๆกันทั่วโลก ซึ่งอาจจะเป็นภูมิปัญญาของมวลมนุษยชาติ ที่ได้บันทึกถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น บอกเล่าเป็นตำนานบอกกล่าวถ่ายทอดกันมา เรื่อง กระเทียมรักษาผมร่วงเป็นวง นี่ก็เช่นเดียวกัน ถึงกับมีแพทย์ชาวอิหร่าน ได้ทำการวิจัยเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยแบ่งคนไข้ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน กลุ่มหนึ่งรักษาด้วยสเตียรอยด์แบบทาอย่างเดียว อีกกลุ่มรักษาด้วยสเตียรอยด์แบบทาร่วมกับกระเทียมสกัดในรูปแบบเจล (garlic gel) ผลปรากฏว่ากลุ่มคนไข้ที่ทากระเทียมเจลร่วมอัตราการหายจากโรคดีกว่าและเร็วกว่า ซึ่งในบทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ได้บอกว่ากระเทียมน่าจะเป็นส่วนเสริม ให้การรักษาด้วยสเตียรอยด์แบบทาดูดซึมผ่านชั้นผิวหนังได้ดีขึ้น
อ้างอิงผลวิจัย : Alopecia areata and adjuvant treatment with garlic gel

รักษาโรคผมร่วงเป็นวงด้วยวิถีธรรมชาติ ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ มีผู้ป่วยมากมายที่เป็นโรคผมร่วงเป็นวงแล้วต้องการจะใช้ธรรมชาติช่วยรักษา เป็นคำถามที่ได้รับมาตลอดช่วง 20 กว่าปีที่ได้รักษาโรคนี้มา ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ไม่อยากกินยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ แพทย์ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์จึงได้ค้นคว้าหาข้อมูลวิธีการรักษาด้วยธรรมชาติที่ดูแล้วไม่มีโทษ ส่วนประโยชน์ที่ได้จะมีหรือไม่นั้นทางไทยแฮร์ฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะมองแต่เพียงว่าการใช้วิธีธรรมชาติบำบัดมาช่วยคนไข้เป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ ประคับประคองให้ผ่านพ้นช่วงที่โรคยังคงมีความรุนแรงอยู่ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี ยิ่งคนไข้ที่เป็นโรคนี้มีความต้องการเรื่องขวัญและกำลังใจอย่างมาก การใช้ธรรมชาติมาช่วยเสริมกับการรักษาด้วยวิธีการแผนปัจจุบัน น่าจะเป็นคำตอบให้คนไข้ได้ วิธีการต่อไปนี้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคผมร่วงเป็นวงอาจจะลองนำไปปฏิบัติรักษาตัวเองร่วมก็ได้ ทางไทยแฮร์เซ็นเตอร์ยืนยันว่าไม่มีข้อเสียแต่ประการใด

  1. อาหารโปรไบโอติก (Probiotic) เพิ่มการรับประทานอาหารประเภทโปรไบโอติกให้มากขึ้น อาหารโปรไบโอติกคืออาหารที่มีแบคทีเรียชนิดดี ที่อาศัยอยู่ในลำไส้เราเป็นปกติอยู่แล้ว เช่น นมเปรี้ยว โยเกริต อาหารประเภทนี้จะช่วยส่งเสริมให้สุขภาพทั่วไปดีขึ้นโดย
    • ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นแข็งแกร่งขึ้น
    • ช่วยเสริมระบบการย่อยอาหารให้ดีขึ้น
    • เพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายโดยเพิ่มการดูดซึมและการสร้าง Vit B12
    • ช่วยทำให้ลมหายใจมีกลิ่นสดใสขึ้นเนื่องจากช่วยทำลายเชื้อแคนดิดา
    • ลดอัตราการเป็นไข้หวัด
    • ช่วยควบคุมน้ำหนัก
    อาหารที่จัดเป็นโปรไบโอติก จะเป็นอาหารที่มีกระบวนการผลิตมีขั้นตอนการหมักเป็นหลัก เช่น
    • ซาวเคราท์ (Sauerkraut) เป็นคำภาษาเยอรมันแปลว่ากะหล่ำปลีเปรี้ยว (sour cabbage) คือกะหล่ำปลีที่หมักกับเกลือ เป็นอาหารหมัก (fermented food) พื้นเมืองของประเทศเยอรมัน มีรสเปรี้ยว และเค็ม ใช้รับประทานเป็นเครื่องเคียง (side dish) เสริฟพร้อมกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไส้กรอก แฮม หรือนำไปอบร่วมกับเนื้อสัตว์
    • คอมบูชา (Kombucha) คือชาหมักที่ได้จากการหมักชาที่เติมน้ำตาลด้วยสคูบี้หรือสโคบี้ (SCOBY = Symbiotic Culture of Bacteria and Yeast) ซึ่งเป็นโคโลนีของแบคทีเรียและยีสต์
    • คีเฟอร์ (Kefir) นมหมัก นมที่ได้จากคีเฟอร์มีประโยชน์มาก หัวเชื้อคีเฟอร์ (Kefir) อาจหาซื้อยากสักหน่อย แนะนำว่าให้ลองหาซื้อตามร้านค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ชาวตะวันออกกลางนิยมกัน หรือลองให้ร้านอาหารตะวันออกกลางช่วยติดต่อแหล่งซื้อหัวเชื้อคีเฟอร์ก็ได้ เพราะมีโปรตีน วิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงช่วยปรับสมดุลในร่างกาย รักษาอาการที่เกิดจากโรคหัวใจ ลดคลอเรสเตอรอล บรรเทาอาการภูมิแพ้
    • นัตโตะ (natto) หรือถั่วเน่าญี่ปุ่น คือ ผลิตภัณฑ์จาก ถั่วเหลือง ที่ผ่านการหมักด้วยเชื้อแบคทีเรีย Bacillus natto (หรือที่เรียกว่า Nattokin) คล้ายกับถั่วเน่าของประเทศไทย ผลพลอยได้จากกระบวนการหมักคือ nattokinase เป็นเอนไซม์ที่ช่วยสลายลิ่มเลือด ลดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ดี วิธีการรับประทานนัตโตะให้อร่อยจะต้องใส่ไข่ดิบลงไป จากนั้นใช้ตะเกียบคนประมาณ 100 ครั้ง จากนั้นตั้งไว้สักครู่เป็นการเพิ่มปริมาณ nattokinase
    • โยเกิร์ต (yogurt อาจเขียนว่า yoghurt) เป็นผลิตภัณฑ์นม (dairy product) จัดอยู่ในกลุ่มนมเปรี้ยว (fermented milk) หมายถึง นมเปรี้ยวที่ได้จากการหมัก (fermentation) ด้วยแบคทีเรีย กลุ่มที่ผลิตกรดแล็กทิก (lactic acid bacteria) ได้แก่ สเตรปโทค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus) และแล็กโทบาซิลลัส เดลบรึคคิไอ ซับสปีชีส์ บัลแกริคัส (Lactobacillus subsp. bulgaricus) หรือแล็กโทบาซิลลัส ซับสปีชีส์ อื่น
    • Kvass ควาสส์ เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เล็กน้อย ผลิตในรัสเซียและยุโรปตะวันออก ทำจากข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์และแป้งข้าวไรย์ ลักษณะของควาสส์จะเป็นของเหลวสีน้ำตาล มีกลิ่นถั่วเล็กน้อย เป็นกรด มีแอลกอฮอล์ต่ำ อาจมีการเติมสาระแหน่ลงไปด้วย เพื่อเพิ่มกลิ่นรส ควาสส์ชนิดหนึ่ง คือ Teekvass เป็นเครื่องดื่มชาที่ผลิตในรัสเซีย โดยการหมักสารละลายของชาและน้ำตาลด้วยเชื้อ Schizosaccharomyces pombe และ Acetobacter xylinum เป็นเครื่องดื่มแบบดั้งเดิมของ Slavs ซึ่งทำจากข้าวมอลต์แป้งและข้าวบาร์เลย์ (หรือข้าวสาลี) การผลิตของ kvass นั้นขึ้นอยู่กับการหมักซึ่งทำให้เครื่องดื่มมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และมีกลิ่นหอม มักจะทำจากขนมปังข้าวไรย์แห้ง ขึ้นอยู่กับสูตรของพื้นที่ที่มีการจัดเตรียมกรุ๊ปน้ำผึ้งสมุนไพรหอมต่างๆผลเบอร์รี่และผลไม้สามารถเติมลงในเครื่องดื่มได้ ที่น่าสนใจสูตร Slavic มักใช้ kvass เป็นพื้นฐานสำหรับอาหารเย็นวันนี้จานที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ okroshka บน kvass ในสมัยโบราณขั้นตอนการหมักของ kvass ถูกนำมาในขอบเขตที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกรดสูง ดังนั้นนิพจน์ "เปรี้ยว" นั่นคือ "ดื่ม"
    • เนยแข็ง หรือ ชีส (cheese) คือ ผลิตภัณฑ์จากนมซึ่งสามารถผลิตได้จากนมวัวหรือแพะ เป็นต้น ที่ผ่านกระบวนการคัดแยกโปรตีน แล้วนำโปรตีนของนมมาทำการผสมเชื้อรา หรือแบคทีเรีย หรือสารอื่นๆ แตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของเนยแข็ง ซึ่งแตกต่างจากเนยที่ทำมาจากไขมันของนม
    • Apple Cider Vinegar คือ น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล โดยการคั้นเอาน้ำของแอปเปิ้ล นำมาหมักกับยีสต์จนกลายเป็นแอลกอฮอล์ แล้วนำแอลกอฮอล์ที่ได้มาเติมแบคทีเรียเพื่อเกิดปฏิกริยา และกลายเป็นกรดอะซิติก แอซิด Apple Cider Vinegar จึงมีคุณสมบัติเป็นกรดสูง และมีรสเปรี้ยวจัด
    • เทมเป้ (tempeh) เป็นอาหารหมักจากถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสงเป็นอาหารมีโปรตีนสูง มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนิเซีย การหมัก (fermentation) เทมเป้ ใช้ เชื้อรา Rhizopus สายพันธุ์ Rhizopus oligosporus ซึ่งมีเส้นใย (hyphae) ที่มีสีขาวปกคลุม ถั่วเหลืองจนทั่วจนจับเป็นก้อน เอนไซม์ที่เชื้อราผลิตจะเปลี่ยนแปลง รส กลิ่น และเนื้อสัมผัส ให้มีลักษณะเฉพาะตัว ตลอดทำให้คุณค่าทางโภชนาการ
    • มิโซะ (ญี่ปุ่น: 味噌 (みそ) โรมาจิ: miso) เป็นผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่น หมักจากข้าว ข้าวบาร์เลย์ หรือถั่วเหลืองกับเกลือและราโคจิกิง (ญี่ปุ่น: 麹菌) ซึ่งมิโซะส่วนมากจะเป็นมิโซะจากถั่วเหลือง มีลักษณะนิ่ม (paste) รสเค็ม และมีกลิ่นคล้ายเนื้อ มีโปรตีนสูง มีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาลเข้ม มักนำมาประกอบอาหาร ทำซุปโดยละลายมิโซะในน้ำ เติมผัก เต้าหู้ เห็ดหรือสาหร่าย หรือทำเป็นเครื่องจิ้มปรุงรส สำหรับอาหารประเภทเนื้อ ปลา หอยและผัก
    • กิมจิ (kimchi) เป็นอาหารพื้นเมืองของประเทศเกาหลี ใช้รับประทานเป็นเครื่องเคียง (side dish) เสริฟพร้อมกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ วัตถุดิบหลัก คือผักกาด หัวไชเท้า ต้นหอม พริกชี้ฟ้า กระเทียม ขิง น้ำปลา เกลือ น้ำตาล ที่ผ่านการหมัก ให้เกิดกรดแล็กติค (lactic acid fermentation) ด้วยจุลินทรีย์ที่ผลิตกรดแล็กติค (lactic acid bacteria) มีรสเปรี้ยว และเค็ม เผ็ดเล็กน้อย
  2. รับประทานอาหารที่มีซิงค์ (Zinc) สูง อาหารที่มีซิงค์ในปริมาณที่สูง ได้แก่
    • ถั่วอัลมอนด์ (Almonds)
    • เมล็ดฟักทอง
    • หอยนางรม
    • เมล็ดกัญชง (Hulled Hemp Seeds)
    • เนื้อวัวเลี้ยงด้วยหญ้า (Grass-Fed Beef)
    • ถั่วหัวช้าง หรือ ถั่วลูกไก่ (chickpea)
    • ถั่วเลนทิล (Lentils) : ถั่วอินเดียหลากสี
    • เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (Cashews)
    • เห็ด (mushroom)
    • ผักปวยเล้ง (Spinach)
  3. รับประทานอาหารเควอซิทินสูง (Quercetin) เควอซิทิน เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ เป็นสารที่ให้ฤทธิ์ในการต้าน ออกซิเดชั่นสูงที่สุด มีมากในหัวหอม หอมแดง, ชาเขียว, แอปเปิ้ล, เบอร์รี่, แปะก๊วย, เซนจอห์นเวิร์ต (St. John's wort) และพืชตระกูลถั่ว ให้ฤทธิ์ในการป้องกันการอักเสบ ป้องกันแบคทีเรีย และไวรัส ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค ควบคุมการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน ช่วยป้องกันอาการแพ้ ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น ในหลอดเลือด และป้องกันหลอดเลือดเลี้ยงสมองอุดตัน ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ลดการเป็นพิษต่อเซลล์ไขมันแอลดีแอล (LDL) จากการทดลองกลไกที่สำคัญในการทำงานของหลอดเลือด หัวใจและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง แล้วยังยับยั้งวงจรชีวิตเซลล์ หยุดการขยายตัวของเซลล์ และรวมถึงการทำให้เกิดอะพ็อพโทซิส (apoptosis) หรือการตายของเซลล์ในการเจริญเติบโตของเซลล์เต้านมที่ผิดปกติได้
  4. โสม (Ginseng) เป็นที่ทราบกันมาช้านานแล้วว่า โสมช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ดีขึ้นแข็งแกร่งขึ้นช่วยลดการอักเสบในระดับเซลล์ของร่างกายให้หายอย่างรวดเร็ว โดยมีการวิจัยเรื่องนี้ที่ หน่วยตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซอูล เกาหลีใต้เมื่อปี พ.ศ.2555 โดยการแบ่งคนไข้เป็น 2 กลุ่ม รักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าที่ตำแหน่งผมร่วงเป็นวง ส่วนอีกกลุ่มจะได้รับ โสมเกาหลีแดง (Korean Red Ginseng) ร่วมด้วย แล้วติดตามการรักษาไปสักระยะ เมื่อใช้กล้องส่องดูการเจริญของเส้นผมที่ตำแหน่งผมร่วงเป็นวง สรุปได้ว่าในกลุ่มที่ได้รับโสมเกาหลีแดงร่วมด้วย มีผมขึ้นเร็วกว่า หายจากโรคเร็วกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน
    อ้างอิงผลวิจัย : Efficacy of korean red ginseng in the treatment of alopecia areata
  5. ลาเวนเดอร์ออยล์ (Lavender Essential Oil) เป็นกลุ่มน้ำมันนวดหอมระเหย (Aromatherapy) คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของลาเวนเดอร์ออยล์คือ ความสามารถในการสมานแผลและปกป้องผิวหนังลดการอักเสบของผิวหนัง มีผลวิจัยเรื่องนี้ที่ทำในหนูทดลองเพื่อยืนยันว่าลาเวนเดอร์ออยล์สามารถกระตุ้นให้มีขนใหม่งอกได้เร็วกว่าปกติ
    อ้างอิงผลวิจัย : Hair Growth-Promoting Effects of Lavender Oil
    นอกจากนี้แล้วยังมีผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำในสก็อตแลนด์ เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหยนวดบริเวณที่มีผมร่วงเป็นวง (lavender+rosemary+ thyme and cedarwood essential oils, mixed with jojoba and grapeseed carrier oils) ทำในคนไข้ทั้งหมด 86 คน แบ่งคนไข้ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้น้ำมันหอมระเหยทาที่ตำแหน่งผมร่วงวันละ 2 ครั้ง อีกกลุ่มใช้น้ำมันธรรมดานวดวันละ 2 ครั้งเช่นเดียวกัน ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ใช้น้ำมันหอมระเหยนวดมีผมขึ้นดีขึ้น 44% เทียบกับกลุ่มน้ำมันธรรมดา ที่มีผมขึ้นดีขึ้นเพียง 15%
    อ้างอิงผลวิจัย : Randomized trial of aromatherapy. Successful treatment for alopecia areata
  6. โรสแมรี่ออยล์ (Rosemary Essential Oil) ซึ่งเป็นน้ำมันที่นิยมใช้กับผมเพื่อเพิ่มความหนาของเส้นผมและทำให้ผมยาวเร็วขึ้น มีผลวิจัยในเรื่องนี้ทำเมื่อ พ.ศ.2558 สรุปได้ว่าโรสแมรี่ออยล์ มีคุณสมบัติในการกระตุ้นผมได้เทียบเท่ากับยารักษาผมร่วงคือ 2% Minoxidil
    อ้างอิงผลวิจัย : Rosemary oil vs minoxidil 2% for the treatment of androgenetic alopecia
    นอกจากนี้แล้วผู้ที่มีปัญหารังแคและหนังศีรษะแห้งยังสามารถใช้ โรสแมรี่ออยล์ นวดที่หนังศีรษะได้วันละสองครั้งช่วยทำให้สุขภาพหนังศีรษะดีขึ้นด้วย
  7. การฝังเข็ม (Acupuncture) การฝังเข็มสามารถรักษา โรคผมร่วงเป็นวงได้เพราะมีรายงานทางการแพทย์ว่าช่วยลดเซลเม็ดเลือดขาว T1 ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่มากัดกร่อนรากผมในโรคนี้ และนอกจากนี้การฝังเข็มยังช่วยลดการอักเสบและเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตไปเลี้ยงรากผมอีกด้วย และอีกความสามารถที่การฝังเข็มทำได้คือ ลดภาวะวิตกกังวลและความซึมเศร้า ที่มักจะมีในผู้ที่เป็นโรคผมร่วงเป็นวง
    อ้างอิงผลวิจัย : Acupuncture for treating alopecia areata
  8. รับประทานอาหารที่ช่วยต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory Foods) เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันต่อต้านเซลล์ตนเองอาหารประเภทนี้ได้แก่ ผักใบเขียว พืชตระกูลผักกาด (Beetroot) ผักกาดฝรั่ง ผักกาดแดง บล็อคเคอรี่ บลูเบอรี่ พืชตระกูลถั่ว ขมิ้นหรือขมิ้นชัน (turmeric) ขิง (ginger) เนื้อปลาซัลมอน และน้ำมันมะพร้าว
    อ้างอิงผลวิจัย : Diet and hair loss
  9. ลดความเครียด มีการศึกษามาแล้วว่าระดับความเครียดที่สูงจะทำให้เส้นผมเล็กลงและผมร่วงมากขึ้น การลดระดับความเครียดอาจจะทำโดย ออกกำลังกายหรือโยคะ (exercise or yoga) นั่งสมาธิ (meditation) ใช้เวลาเดินเล่นตามห้างหรือที่สาธารณะ (outdoors)

งานวิจัยใหม่ๆเกี่ยวกับโรคผมร่วงเป็นวง มียามากมายที่อยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อใช้รักษาโรคผมร่วงเป็นวง

  • ปี พ.ศ.2557 มีการพบว่ายากิน ruxolitinib ซึ่งทาง FDA ของสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับไขกระดูก (myelofibrosis) มีผลข้างเคียงอย่างหนึ่งที่ทำให้คนที่เป็นโรคผมร่วงเป็นวงที่เป็นมานานและเป็นแบบรุนแรงรักษามาอย่างไรก็ไม่หาย แต่กลับมีผมขึ้นได้ถึง 3 ราย แต่ยาตัวนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ราคาค่ายาที่ใช้รักษาปัจจุบันในสหรัฐอเมริกาตกอยู่ที่ราคาราว 300,000 บาท/เดือน
    ปี พ.ศ.2562 จึงมีการทำวิจัยในเรื่องนี้โดยตรงกับผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคผมร่วงเป็นวงพบว่า ได้ผลดีจริงในกรณีที่เป็นโรคมากและเป็นมานานรักษาอย่างไรก็ไม่หาย (chronic extensive disease) แต่ยังพบว่ามีผลข้างเคียงต่างๆอยู่มาก โดยเฉพาะการติดเชื้อโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ทั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียฉกฉวยโอกาส เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าแล้วยังคงต้องศึกษาต่อไป
    อ้างอิงผลวิจัย : JAK inhibitors and alopecia areata
    อ้างอิงผลวิจัย : Ruxolitinib for the treatment of severe alopecia areata
  • ปี พ.ศ.2565 ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่ามีผู้ที่มีปัญหาผมร่วงเป็นวงมากขึ้น ทั้งผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 หรือ ผู้ป่วยที่ให้ประวัติว่าได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) มาก่อนในช่วง 1-6 เดือน กลไกการเกิดเชื่อว่าสัมพันธ์กับปัจจัยความเครียดในตัวผู้ป่วยเองและพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย บางรายมีประวัติผมร่วงกระจายทั้งศีรษะมาก่อน จากนั้นจึงสังเกตเห็นว่ามีผมร่วงเป็นวงเกิดขึ้น อาการผมร่วงนี้มักเกิดตามหลังการติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วประมาณ 1-6 เดือน

 
 
ติดต่อรักษาปัญหาผมร่วง ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์
ติดต่อจองคิวตรวจ รักษาผมร่วง ผมบาง

รักษาทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รักษาโดยแพทย์

แผนปัจจุบัน หมอรักษาผมร่วงโดยเฉพาะ

โทร 02-4460875 หรือ 02-4460282

ค่ารักษา 940 บ/ด   จองคิวตรวจ   ดูแผนที่
เวลาทำการของคลินิกรักษาผมร่วง
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป
คลินิกเปิดทำการ วันอังคารถึงเสาร์
เวลาทำการ 11.00-17.00 น.
หยุดทำการ วันอาทิตย์และจันทร์


เทศกาลปีใหม่หยุด 7 วัน
ตั้งแต่ พ. 27 ธ.ค. 66 - อ. 2 ม.ค. 67
เปิดทำการปกติ พ. 3 ม.ค. 67


โปรดโทรตรวจสอบก่อนเดินทางมาตรวจ
02-4460875, 086-8522337


ทางคลินิกไม่มีบริการส่งยาทางไปรษณีย์

  อ. - ส.     11.00 - 17.00 น.
 อา. และ จ.     หยุดทำการ

โทรจองคิวตรวจ 11.00 - 17.00 น.
รับจองทุกวัน เบอร์โทร 02-4460282

จองคิวล่วงหน้า วันต่อวันได้ที่ 02-4460875
( ควรโทรนัดก่อนเพราะบางครั้งแพทย์ติดภารกิจ คลินิกจะปิด )

ค่ายารักษาผมร่วง   นัดคิวตรวจ   ดูแผนที่

ภาพรวมการรักษาผมร่วงผมบาง

ข้อมูลบทความเกี่ยวกับภาวะผมร่วงผมบาง
- จุดตั้งต้นของผู้ที่มีผมร่วง
- สาเหตุของภาวะผมร่วง
- ผมร่วงกับยาคุมกำเนิด
- ผมร่วงเกิดจากสาเหตุหลักๆอะไร
- น้ำมะพร้าวกับคนศีรษะล้าน
- เคล็ดลับเพื่อช่วยลดปัญหาผมร่วง
- สภาพหนังศีรษะกับอาการผมร่วง
- เคล็ดลับในการลดปัญหาหนังศีรษะมัน
- การใช้แชมพูในผู้ที่มีปัญหาหนังศีรษะมัน
- ยาปลูกผมในผู้หญิง
- โรคผมร่วงเป็นหย่อมๆ
- วิธีแก้ปัญหาผมร่วงโดยวิธีธรรมชาติด้วยตนเอง
- ลดผมร่วงด้วยสมุนไพรและอาหารธรรมชาติ
- เคล็ดลับการดูแลรักษาผมในหน้าร้อน
- กฎเหล็ก 6 ข้อเพื่อป้องกันศีรษะล้านก่อนวัย
- ผมร่วงกับอาหารที่ควรและไม่ควร
- 12 ชนิดอาหารสำหรับผมร่วง
- จัดแต่งทรงผมสำหรับคนผมบาง
- ความผิดปกติเรื่องรูปร่างของเส้นผม
- รักษาผมร่วงด้วยสมุนไพรไทย
- วิธีป้องกันผมแตกปลาย
- ศัลยกรรมปลูกผมมีผลแทรกซ้อนอย่างไร
- ก่อนปลูกผมด้วยวิธีศัลยกรรมต้องอ่าน