Thai Hair Center has provided healthcare since 1999

วิธีการรักษาผมร่วง ผมบาง ตามสาเหตุของอาการผมร่วง

วิธีการรักษาผมร่วงผมบางและผลการรักษาอาการผมร่วงของแต่ละสาเหตุ

โพสต์ : โดย ทีมงานวิชาการ
ปรับปรุงล่าสุด : 3 มิ.ย. 65 - ครั้งที่ 18

ผู้ที่มารักษาเรื่องผมร่วงผมบาง ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ ในแต่ละวันจะมีทั้งผู้หญิงผู้ชาย อายุเฉลี่ย 17-65 ปี มีหลากหลายสาเหตุต่างๆ กันไป แต่โดยรวมแล้วประมาณร้อยละ 90 ของผู้ที่มารักษาจะมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ หรือ อิทธิพลของฮอร์โมนเพศชาย การให้การรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายจะให้ยาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการประเมินสาเหตุในเบื้องต้นและผลการตรวจสภาพหนังศีรษะ ทางไทยแฮร์เซ็นเตอร์ได้รวบรวมสาเหตุของผมร่วงของผู้ที่มารับการรักษาเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้

1. ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ทั้งหญิงและชาย

ผู้ที่มารับการรักษาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมีลักษณะเฉพาะที่พบร่วมได้คือ

ลักษณะเฉพาะที่ตรวจพบในหญิงและชาย
ในผู้ชาย
ในผู้หญิง

รูปแบบผมบางกรรมพันธุ์ของผู้ชาย

  • มีการร่นของแนวผมด้านหน้า หรือมุมซ้ายและขวาของหน้าผาก ทำให้หน้าผากมีลักษณะคล้ายรูปตัวอักษร M
  • ผมบางจนมองเห็นหนังศีรษะบริเวณกลางกระหม่อมและบริเวณ ขวัญค่อนไปด้านหลัง
  • ผมบริเวณเหนือกกหูทั้งสองข้าง และผมบริเวณท้ายทอย จะมีความหนาแน่นและขนาดเส้นผมปกติ
  • มีหนังศีรษะอักเสบเป็นจุดแดงๆบริเวณรอบรูขุมขน
  • มีหนังศีรษะมันมาก คันหนังศีรษะร่วม
  • ในคนที่ศีรษะล้านมากๆ มักมีลักษณะบ่งว่าฮอร์โมนเพศชายสูงเช่น หน้ามัน หนวดเคราดก ขนที่อื่นมีเยอะ
  • อาจจะมีหรือไม่มีประวัติว่า พ่อแม่มีปัญหาผมบางก็ได้
  • มีผมร่วงมากจนน่าวิตก สังเกตพบได้ ที่ผ้าปูที่นอน ท่อระบายน้ำ ผ้าเช็ดตัวเวลาเช็ดผม

รูปแบบผมบางกรรมพันธุ์ของผู้หญิง

  • ไม่มีการร่นแนวผมด้านหน้าผาก
  • ผมบางเฉพาะด้านบนกลางศีรษะ สังเกตรอยแสกผมจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ
  • ผมบริเวณเหนือกกหูทั้งสองข้าง และผมบริเวณท้ายทอย อาจจะมีความหนาแน่นลดลงและขนาดเส้นผมเล็กลงได้แต่จะดีกว่า บริเวณกลางศีรษะด้านบน
  • มีหนังศีรษะอักเสบเป็นจุดแดงๆ บริเวณรอบรูขุมขน
  • มีหนังศีรษะมันมาก คันหนังศีรษะร่วม
  • อาจจะมีหรือไม่มีประวัติว่า พ่อแม่มีปัญหาผมบางก็ได้
  • ในผู้หญิงมักจะมีประวัติความผิดปกติของรอบเดือนในอดีตร่วมด้วย เช่นมาไม่สม่ำเสมอ หรือมักจะขาดหายไปเป็นช่วงๆ
  • กรรมพันธุ์ผมบางในผู้หญิงจะแสดงเด่นชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดรอบเดือน
  • มีผมร่วงมากจนน่าวิตก สังเกตพบได้ ที่ผ้าปูที่นอน ท่อระบายน้ำ ผ้าเช็ดตัวเวลาเช็ดผม หรือเวลาสระผม ลูปผมจะร่วงติดมือ

แนวทางในการรักษากลุ่มนี้ทาง ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ จะต้องทำควบคู่กันไปคือ
1.ลดอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชายที่หนังศีรษะ
2.ลดการอักเสบของผิวหนังที่ศีรษะ
3.ลดปัญหาหนังศีรษะมัน
4.เพิ่มสารอาหาร ออกซิเจน และเลือดไปหล่อเลี้ยงรากผมให้มากขึ้น
ผลการรักษานี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยอย่างหนึ่งที่พบว่ามีความสำคัญมากคือ อายุของผู้ที่เข้ามารับการรักษา พบว่า
จากการสำรวจผู้ป่วยชาย 100 ราย ช่วงอายุ 24-55 ปี ของไทยแฮร์เซ็นเตอร์ ( ช่วงเวลาที่สำรวจ กันยายน 2551- เมษายน 2552 )
พบว่าอัตราความพึงพอใจของการรักษาจะมากในผู้ที่อายุน้อย
- อายุ 24-30 ปี อัตราความพึงพอใจประมาณ 85 % หลังการรักษา 3 เดือน แล้วเพิ่มขึ้นถึง 95% เมื่อรักษาครบ 6 เดือน
- อายุ 31-40 ปี อัตราความพึงพอใจประมาณ 75 % หลังการรักษา 3 เดือน แล้วเพิ่มขึ้นถึง 87% เมื่อรักษาครบ 6 เดือน
- อายุ 41-50 ปี อัตราความพึงพอใจประมาณ 65 % หลังการรักษา 3 เดือน แล้วเพิ่มขึ้นถึง 75% เมื่อรักษาครบ 6 เดือน
- อายุ มากกว่า 50 ปี อัตราความพึงพอใจประมาณ 62 % หลังการรักษา 3 เดือน แล้วเพิ่มขึ้นถึง 72% เมื่อรักษาครบ 6 เดือน

   * หมายเหตุ : ความพึงพอใจของผู้เข้ารับการรักษาไม่ใช่ผลที่ได้จากการรักษาว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด แต่เป็นความพึงพอใจที่ผู้เข้ารับการรักษาได้แสดงออกจากการตอบแบบสอบถาม เพราะระดับความรุนแรงของผมร่วงผมบางในแต่ละรายที่มารับการรักษามากน้อยต่างกัน บางรายความคาดหวังเพียงมีแค่ผมขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือผมหยุดร่วงก็พึงพอใจแล้ว เป็นต้น

 

2. ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata)

ผมร่วงเป็นหย่อม - Alopecia Areata

ผมร่วงเป็นหย่อมนี้ มีผู้ป่วยอย่างน้อยวันละ 1-2 ราย มารักษาที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อาการเด่นคือ มีผมร่วงหายไปเป็นลักษณะวงๆ เป็นหย่อม บริเวณใดก็ได้ของหนังศีรษะ จะเป็นแบบวงเดียวหรือหลายวงก็ได้ ภาวะนี้สร้างความวิตกให้ผู้ที่ประสบเป็นอย่างมากเพราะเกรงว่าหย่อมผมร่วงจะขยายออกไป หรือมีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่เป็นสาเหตุ หรืออาจจะเกิดที่ตำแหน่งอื่นที่มีขนอยู่ เช่น หนวดเคราร่วงออกเป็นวง, ขนหน้าแข้งร่วงออกเป็นวง, ขนคิ้วร่วงออกเป็นวง ฯลฯ

ภาพแสดงโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata)

ผมร่วงเป็นวงในผู้หญิงกลางศีรษะ

ผมร่วงเป็นวงเป็นมากหลายวงมาต่อกันจนเป็นบริเวณกว้าง

ผมร่วงเป็นวงในผู้ชายเป็นหลายวงขนาดต่างๆกัน

หนวดเคราร่วงออกเป็นวง

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) ที่ควรทราบ บางข้อในตำราแพทย์ไม่ได้เขียนไว้ แต่เป็นการสังเกตได้ของแพทย์ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์
  1. โรคนี้ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดแต่มีความสัมพันธ์กับ การแพ้สารเคมี, ยาบางชนิด, ภาวะวิตกหรือความเครียดทางจิตใจ, ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาทำลาย รากผมตัวเอง
  2. ลักษณะการร่วงอาจจะเป็นวงกลมหรือวงรีก็ได้ ขนาดใหญ่เล็กได้ทั้งนั้น บางครั้งเกิดหลายวงแต่ละวงลามใหญ่ขึ้นมารวมกันเหมือนกับเป็นวงใหญ่วงเดียว
  3. อาจจะพบร่วมกับความผิดปกติของเล็บได้เช่น เล็บหนา เปราะ ผิวขรุขระ
  4. ส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการแสดงออกทางโรคผิวหนังอื่นๆให้รู้ตัวมาก่อนเลย เช่น อาการคัน อักเสบ ปวดแสบปวดร้อน ฯลฯ ผู้ป่วยมารู้ตัวว่ามีผมแหว่งออกไปเป็นวงแล้วจากคนรอบข้างทัก คนที่ทักมักจะเป็น เพื่อนร่วมงาน ญาติ ช่างตัดผม เป็นต้น เมื่อเป็นใหม่ๆในระยะเวลาที่พึ่งเป็นมาเป็นวันหรือเดือน เมื่อมองที่รอยโรค คนส่วนใหญ่จะตกใจเพราะเป็นผิวหนังที่เรียบเนียนสีขาวอมชมพูอ่อนๆ มองไม่เห็นรูขุมขนเลย และคนส่วนใหญ่มักจะทึกทักเอาเองว่า เส้นผมไม่น่าจะขึ้นแล้วรูขุมขนปิดไปหมดแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตรงข้ามกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่เลย...เส้นผมยังมีโอกาสกลับมาขึ้นได้เหมือนเดิม แต่ในอีกกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายๆกัน ที่มีประวัติผมแหว่งออกไปเป็นปีๆแล้ว มาหาแพทย์ลักษณะรอยโรคที่เป็นมีลักษณะเป็นวงเหมือนกัน มองไม่เห็นรูขุมขนเหมือนกัน แต่ผิวหนังตรงวงจะมีลักษณะเป็นมันประกายสะท้อนแสงไม่อมสีขาวชมพูอ่อนๆ ในกลุ่มนี้มักจะเป็นโรคที่ทำให้ ผมร่วงแบบเป็นแผลเป็น มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีเช่นกัน กลุ่มนี้เส้นผมจะไม่มีวันที่จะกลับมาขึ้นอีกเลย (Cicatricial Alopecia) และในกลุ่มที่ผมร่วงแบบเป็นแผลเป็นมักจะมีสาเหตุมาจากโรคผิวหนังบางชนิดที่พบได้ไม่บ่อย เมื่อเป็นระยะแรกๆอาจจะแยกยากจากโรคผมร่วงเป็นวง (Alopecia areata) แต่มักจะมีอาการทางผิวหนังมาก่อน เช่น คัน แสบร้อน ผิวหนังอักเสบ เป็นตุ่มสิวฝีหนอง ฯลฯ
  5. โรคนี้สามารถเกิดได้ทุกที่ที่มีรูขุมขน เช่น หนวดเคราก็สามารถร่วงออกเป็นวงได้ หรือเกิดตำแหน่งอื่นๆอีกก็ได้
  6. บางรายผมร่วงออกมามีลักษณะเลือดออกที่โคนผม
  7. ที่ตำแหน่งชายขอบของวงผมร่วงจะพบผมเส้นสั้นๆ ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์ หรือเครื่องหมายตกใจ (Exclamation mark hair - ! ! ! ! ! ! !) ความหมายคือจะมีการลีบเล็กลงของเส้นผมลงไปถึงโคนรากผม เชื่อว่าเกิดจากการมีการอักเสบของรากผม และในไม่ช้าผมที่มีลักษณะดังกล่าวก็จะร่วงออกไปทำให้วงผมร่วงเป็นหย่อมขยายตัวใหญ่ขึ้น
  8. ผิวหนังตำแหน่งที่ผมร่วงเป็นหย่อมมีลักษณะเนื้อเป็นสีขาวอมชมพูเรือๆ ขนที่ขึ้นเล็กมาก เป็นขนอ่อนสีขาว
  9. เมื่อหายผมที่ขึ้นใหม่อาจจะไม่ปกติเช่น มีสีเปลี่ยนเป็นสีขาว (เมื่อเวลาผ่านไป ผมจะกลับมาเป็นสีปกติเอง)
  10. โรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรงใดๆทั้งสิ้น ไม่ติดต่อไปยังผู้ใด ไม่ใช่มะเร็ง ไม่มีโรคร้ายซ่อนเร้นอยู่ ไม่ใช่เชื้อรา ไม่ใช่เอดส์ แต่มักจะสร้างความวิตกกังวลอย่างมากให้ผู้ป่วย ซึ่งเมื่อวิตกกังวลมากก็จะเป็นเหตุให้รอยโรคลุกลามขยายตัวกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว บางครั้งผมร่วงจนหมดศีรษะเลย (Alopecia Totalis)
  11. สามารถหายเองได้ ภายในระยะเวลา 6 เดือน - 2 ปี
  12. โรคผมร่วงเป็นวงนี้เวลาหายหรือโรคลดความรุนแรงลง มักจะเริ่มมีผมขึ้นที่กลางวงก่อนและมักจะเป็นขนอ่อนสีขาวๆ
  13. ในกลุ่มที่มีขนที่อื่นในร่างกายร่วงร่วมด้วย ไม่ว่า ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนหน้าแข้ง ขนในร่มผ้า กลุ่มนี้มักไม่ค่อยหายเอง หรือในคนที่มีประวัติเป็นซ้ำหลายๆครั้งในรอบ 5 ปี มักจะต้องพึ่งยาในการรักษา
  14. หากเกิดกับคนที่มีบุคลิกภาพพิเศษ ย้ำคิดย้ำทำ มีความกังวลเป็นนิจ เป็นคนเจ้าระเบียบ เคร่งครัดในระเบียบวินัย พักผ่อนน้อย เครียดเป็นกิจวัตร อาการผมร่วงเป็นวงมักไม่หายเองจะต้องพึ่งการรักษาจากแพทย์ คนเหล่านี้เมื่อมาพบแพทย์จะตรวจสภาพจากภายนอกมีลักษณะที่สำคัญคือ สีหน้าจะแสดงออกถึงความวิตกกังวล ขอบตาด้านล่างทั้ง 2 ข้างจะมีลักษณะคล้ำแสดงออกถึงการพักผ่อนน้อยและวิตกกังวล
  15. โรคผมร่วงเป็นวงนี้ ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ จะพบผู้ป่วยโรคนี้ชุกขึ้นในช่วง กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ของทุกปี และพบในกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับตัวเลข เช่น สำนักบัญชี งานบริษัทเกี่ยวข้องกับงานบัญชี งานด้านกฏหมาย ฯลฯ ซึ่งในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำหนดให้มีการส่งงบดุลบัญชีประจำปีของนิติบุคคลต่อทางราชการ ซึ่งเป็นไปได้ว่าลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข การเร่งรัดของงานอาจจะสร้างภาวะวิตกกังวลและความเครียดให้คนทำงานมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดอาการ ผมร่วงเป็นวง มากขึ้นในช่วงนี้
  16. โรคผมร่วงเป็นวงนี้บางคนเรียกโรคAA (Alopecia Areata) และอธิบายการเกิดว่าเป็นโรคเม็ดเลือดขาวกินรากผม แต่โดยหลักการเกิดนั้นเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแปรปรวนทำให้ ร่างกายสำคัญผิดว่ารากผมคือสิ่งแปลกปลอม จึงมี การทำลายรากผมตัวเอง เกิดขึ้น แต่การทำลายรากผม หรือรากขนตัวเองนั้นสามารถเกิดได้ทั้งแบบร่างกายส่งเม็ดเลือดขาวไปกินหรือร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไปทำลาย เป็นได้ทั้งสองแบบ
  17. ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พบคนไข้ที่มีปัญหาผมร่วงเป็นวงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ซึ่งจะเกิดได้หลังได้รับวัคซีนในช่วงประมาณ 1-6 เดือน หรือพบมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีประวัติว่าติดเชื้อโควิดมาก่อนในช่วง 1-6 เดือนที่ผ่านมา กลไกการเกิดเชื่อว่าสัมพันธ์กับภาวะเครียดของผู้ป่วยเอง
  18. อ่านสาเหตุอื่นที่ทำให้ผมร่วง

ผมร่วงเป็นวงเกิดที่หนวดเครา

แนวทางการรักษา ต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เป็น และยืนยันให้ได้ว่าเป็นโรคชนิดนี้ไม่ใช่สาเหตุอย่างอื่น การรักษาส่วนใหญ่เป็นการประคับประคอง ป้องกันไม่ให้ผมร่วงเป็นหย่อม ลามใหญ่ขึ้นด้วยยาทาชนิดครีมหรือชนิดน้ำ และเร่งให้หายกลับมาปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ยังเสริมด้วยกลุ่มยาและวิตามินที่เร่งการเจริญเติบโตของเส้นผม

3. ผมร่วงทั้งศีรษะ

อาการผมร่วงทั้งศีรษะ เป็นได้ทั้งหญิงและชาย แต่ในผู้หญิงจะพบมากกว่า สามารถแยกจาก ผมบางจากกรรมพันธุ์ได้ง่ายมากจากการตรวจสภาพผิวหนังศีรษะ และตำแหน่งผมบาง ถ้าเป็นจากกรรมพันธุ์ ผมตำแหน่งเหนือกกหูและด้านหลังท้ายทอยจะหนาปกติ ส่วนสาเหตุของผมร่วงทั้งศีรษะที่พบบ่อยและเป็นปัญหาที่มาปรึกษาที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์บ่อยๆคือ

  1. เป็นชนิดเดียวกับผมร่วงเป็นหย่อมแต่เป็นกระจายทั่วศีรษะหลายๆวง จนดูเสมือนหนึ่งว่าผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis)
  2. ผมร่วงทั้งศีรษะจากการมีประวัติรับประทานยามาประจำต่อเนื่อง หรือพึ่งจะหยุดยาไปในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยาที่พบบ่อยคือ ยารักษาสิว, ยาลดความดันโลหิตกลุ่มต้านเบต้า, ยารักษาเกาท์, ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคซึมเศร้า, ยารักษาโรคประสาทกังวล, ยาลดน้ำหนักประเภทไม่ให้อยากอาหาร ดูรายชื่อยาอื่นที่ทำให้ผมร่วง
  3. ผมร่วงมากจากการขาดสารอาหารและวิตามิน เช่น ซีดจากขาดธาตุเหล็ก, ขาดวิตามินบี อย่างรุนแรง, โรคเลือดชนิดซีด ธาลัสซีเมีย
  4. ผมร่วงในผู้ชายที่เล่นกล้าม แล้วกินอาหารที่ขึ้นชื่อว่าช่วย เร่งการเผาผลาญ (Fat Burner), หรือ ในบางรายใช้การเร่งกล้ามเนื้อโดยใช้ฮอร์โมนเพศชายแบบผิดวัตถุประสงค์ หรือ ใช้ Growth Hormone
  5. ผมร่วงทั้งศีรษะจากการลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว
  6. ผมร่วงทั้งศีรษะจากการหายจากโรคที่ทำให้มีไข้สูงมาก่อนหน้านี้ 60 - 120 วัน เช่น โรคไข้ไทฟอยด์, โรคไข้เลือดออก, โรคติดเชื้อที่ทำให้มีไข้สูงอื่นๆ เป็นต้น
  7. ผมร่วงหลังคลอดได้ 3-4 เดือน : กลุ่มนี้หากไม่รักษาสามารถหายเองได้ภายใน 6-18 เดือนหลังคลอด
  8. ผมร่วงหลังเจ็บป่วยเรื้อรัง นอนป่วยอยู่นาน หรือเข้ารับการผ่าตัดระบบช่องท้องที่ต้องนอนนานและรับประทานอาหารได้น้อยลง
  9. ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พบคนไข้ที่มีปัญหาผมร่วงกระจายทั้งศีรษะมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีประวัติว่าติดเชื้อโควิดมาก่อนในช่วง 1-6 เดือนที่ผ่านมา กลไกการเกิดเชื่อว่าสัมพันธ์กับภาวะเครียดของผู้ป่วยเอง ทำให้มีการเกิดภาวะผมผลัดมากกว่าปกติ (Telogen effluvium) ซึ่งภาวะนี้เกิดได้จากการที่เส้นผมมีอายุสั้นกว่าปกติ ทำให้หมดอายุเร็วจึงผลัดออกมา บางรายเป็นมากจนน่าตกใจ
  10. อ่านสาเหตุอื่นที่ทำให้ผมร่วงทั้งศีรษะ

แนวทางการรักษาในกลุ่มนี้ ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ แนะนำให้หยุดยาที่เป็นสาเหตุ แบบสิ้นเชิง หากไม่สามารถหยุดได้ แนะนำให้ไปใช้ยาตัวอื่น ที่ให้ผลการรักษาแบบทดแทนกันได้แทน นอกจากนี้แล้วยังต้องประเมิน ภาวะการขาดสารอาหารและวิตามินว่าเป็นกลุ่มใดตัวใด แล้วให้ทดแทนในปริมาณที่สูง ร่วมกับให้ยาในกลุ่มที่เพิ่มออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยงรากผมโดยทันที เพื่อการฟื้นฟูรากผมที่ยังคงอยู่ และกระตุ้นรากผมที่กำลังจะหมดสภาพแบบถาวร ผลการรักษา ในกลุ่มนี้ค่อนข้างจะได้ผลเป็นที่พึงพอใจมาก แต่ต้องใช้เวลาต่อเนื่องประมาณ 6-12 เดือน

4. ผมร่วงจากการแพ้สารเคมี

ผมร่วงจากการแพ้สารเคมีบางชนิด เป็นผมร่วงแบบทั่วทั้งศีรษะ สารเคมีที่พบบ่อยมักจะเป็น น้ำยาย้อมผม, น้ำยายืดผม, น้ำยาดัดผม, แชมพูที่เปลี่ยนมาใช้ใหม่ เป็นต้น ในกลุ่มที่มารักษาที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ในกลุ่มนี้ มักจะมีประวัติสัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้มาก่อน 2-3 เดือนก่อนที่จะมีอาการผมร่วง และอาการผมร่วงจะดูไม่รุนแรงจนบางครั้งไม่รู้ตัวจนมีผู้อื่นมาทักว่าผมบางมาก จึงหันมาสนใจแลัวมาปรึกษาแพทย์ที่ ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ นอกจากนี้การตรวจหนังศีรษะอาจจะพบร่องรอยของการอักเสบร่วมด้วย แต่ในรายที่ผ่านไปนานแล้วหลังสัมผัสสารเคมี การตรวจหนังศีรษะอาจจะไม่พบร่องรอยของการอักเสบเลย

การรักษาในกลุ่มนี้จะยากมากหากไม่ทราบสิ่งที่แพ้ชัดเจน แล้วผู้ที่มีอาการผมร่วงยังคงสัมผัสสารเคมีเหล่านั้นอยู่ทุกวันซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารเคมี ที่ปนเปื้อนอยู่ในละอองอากาศในที่ทำงาน แต่ถ้าพบสิ่งที่แพ้ จากประวัติการเคยสัมผัสชัดเจน การรักษาก็เป็นเรื่องไม่ยากนักและการฟื้นฟูรากผม ให้ผมกลับมาขึ้นแบบปกติ หยุดอาการผมร่วงได้แบบฉับพลัน สามารถกระทำได้โดยง่ายและผลการรักษาเป็นที่พึงพอใจมาก ระยะเวลาการรักษาประมาณ 4-5 เดือน
 
 
ติดต่อรักษาปัญหาผมร่วง ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์
ติดต่อจองคิวตรวจ รักษาผมร่วง ผมบาง

รักษาทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รักษาโดยแพทย์

แผนปัจจุบัน หมอรักษาผมร่วงโดยเฉพาะ

โทร 02-4460875 หรือ 02-4460282

ค่ารักษา 940 บ/ด   จองคิวตรวจ   ดูแผนที่
เวลาทำการของคลินิกผมร่วงผมบาง
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป
คลินิกเปิดทำการ วันอังคารถึงเสาร์
เวลาทำการ 11.00-17.00 น.
หยุดทำการ วันอาทิตย์และจันทร์


เทศกาลปีใหม่หยุด 7 วัน
ตั้งแต่ พ. 27 ธ.ค. 66 - อ. 2 ม.ค. 67
เปิดทำการปกติ พ. 3 ม.ค. 67


โปรดโทรตรวจสอบก่อนเดินทางมาตรวจ
02-4460875, 086-8522337


ทางคลินิกไม่มีบริการส่งยาทางไปรษณีย์

  อ. - ส.     11.00 - 17.00 น.
 อา. และ จ.     หยุดทำการ

โทรจองคิวตรวจ 11.00 - 17.00 น.
รับจองทุกวัน เบอร์โทร 02-4460282

จองคิวล่วงหน้า วันต่อวันได้ที่ 02-4460875
( ควรโทรนัดก่อนเพราะบางครั้งแพทย์ติดภารกิจ คลินิกจะปิด )

ค่ายารักษาผมร่วง   นัดคิวตรวจ   ดูแผนที่

วิธีแก้ผมร่วงด้วยหมอรักษาผมร่วง

ข้อมูลบทความเกี่ยวกับภาวะผมร่วงผมบาง
- จุดเริ่มต้นของผู้ที่ผมร่วง
- ผมร่วงมากทำไงดี?
- อาหารเสริม วิตามิน ช่วยผมร่วงได้จริงหรือ?
- สาเหตุของอาการผมร่วง
- ดิฉันจะหัวล้านเหมือนพ่อไหม?
- สาเหตุของผมมันหรือหนังศีรษะมัน
- ป้องกันแก้ปัญหาผมมันได้อย่างไร?
- วิธีเลือกใช้แชมพูสำหรับผมมัน
- ยาคุมกำเนิดทำให้ผมร่วงได้หรือไม่?
- เลือกใช้แชมพูอย่างไรเมื่อมีอาการผมร่วง ?
- ยาฟีเนสเตอร์ไรด์มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- ผมร่วงเป็นหย่อม หายไปเป็นกระจุก ทำไงดี ?
- อาหารและโภชนาการสำหรับคนผมร่วงผมบาง
- เก็บตกสารพันปัญหาเกี่ยวกับผมร่วงผมบาง
- สาเหตุผมร่วง ผมบางในผู้หญิง
- การรักษาผมร่วง แก้ปัญหาผมบางในผู้หญิง
- ยาปลูกผมในผู้หญิง
- โรคผมร่วงเป็นหย่อมๆ
- การขาดไบโอตินกับภาวะผมร่วง
- 12 ชนิดอาหารสำหรับผมร่วง
- วิธีป้องกันผมแตกปลาย
- ศัลยกรรมปลูกผมถาวร
- ก่อนปลูกผมด้วยวิธีศัลยกรรมควรศึกษา